โลโก้หน่วยงานไทย

ม.วลัยลักษณ์ ขยับขึ้น 4 อันดับ อยู่อันดับที่ 15 ของไทย การจัดอันดับ WEBOMETRICS RANKING 2022

WEBOMETRICS RANKING 2022

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขยับขึ้น 4 อันดับ จากการจัดอันดับ WEBOMETRICS RANKING ประจำปี 2022 รอบเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เดิมปี 2021 อยู่อันดับที่ 19 ขยับมาเป็นอันดับที่ 15  ของประเทศไทย ในปี 2022 คาดเป็นผลการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องของคณะกรรมการขับเคลื่อนเว็บไซต์ฯ

เมื่อเร็วๆนี้ Cybermetrics Lab ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยของสภาวิจัยแห่งชาติ ประเทศสเปน ได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัย Webometrics Ranking of World Universities ประจำปี 2022 รอบเดือนกรกฎาคม ผ่านทางเว็บไซต์ http://www.webometrics.info ผลปรากฏว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับการจัดอันดับ เป็นอันดับที่ 15 ของประเทศไทย จาก 194 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และเป็นอันดับที่577 ของเอเชีย อันดับที่ 1,814 ของโลก 

อย่างไรก็ตาม หากดูสถิติผลการจัดอันดับ Webometrics Ranking ของม.วลัยลักษณ์ในระดับประเทศและระดับโลกย้อนหลัง พบว่า มีอันดับที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2019 , 2020 , 2021 และ 2022 ม.วลัยลักษณ์ อยู่ในอันดับที่ 24 , 23 , 19 และ 15 ของประเทศ ส่วนอันดับโลกอยู่ในลำดับที่ 3,033  , 2,951 , 2,379 และ 1,814 ของโลก ตามลำดับ  

WEBOMETRICS RANKING 2022

ทั้งนี้เป็นผลจากการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ของคณะกรรมการขับเคลื่อนเว็บไซต์เพื่อการจัดอันดับมหาวิทยาลัย ที่ได้ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์หลักและเว็บไซต์ของหน่วยงานภายในต่างๆพร้อมทั้งจัดอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรของมหาวิทยาลัยในเรื่องต่างๆ อาทิ กระบวนการพัฒนาเว็บไซต์เพื่อการจัดอันดับมหาวิทยาลัย ด้วย Webometrics โดยการทํา SEO การเขียน Blog เพื่อการจัดการความรู้ฯลฯ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ได้รับการจัดอันดับที่สูงขึ้นดังกล่าว

สำหรับการจัดอันดับ “Webometrics Ranking of World Universities” จะมีการประกาศผลการจัดอันดับ 2 ครั้งต่อปี คือช่วงเดือนมกราคมและช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี ผ่านทางเว็บไซต์ http://www.webometrics.info โดยเครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลการจัดอันดับ Ranking เรียกว่าเว็บโอเมตริกซ์ ที่มีเกณฑ์การวัดผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัย 

ประกอบด้วย 1) Visibility (50%) จำนวนการอ้างอิงจากเว็บไซต์อื่น (backlinks) กลับมายังเว็บของมหาวิทยาลัย (วัดด้วย การคำนวณจะใช้ค่าเฉลี่ยจาก Ahrefs และ Majestic) 2) Transparency or Openness (10%) จำนวนการถูกอ้างอิง (citation) ของผลงานวิชาการ 210 ผู้เขียนแรก ที่อยู่ในฐานข้อมูล Google Scholar (วัดด้วย Google Scholar Citation) และ3) Excellence or Scholar (40%) จำนวนบทความวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร ของงานวิจัยหรือเอกสารวิชาการที่ถูกนำไปอ้างอิงมากที่สุดในแต่ละสาขาวิชา ในระยะเวลา 5 ปี ที่มีการถูกอ้างอิงสูงสุด 10 % แรกในฐานข้อมูล Scimago