โลโก้หน่วยงานไทย

มวล.-เครือข่ายพัฒนาสหกิจศึกษาภาคใต้ตอนบน-สมาคมสหกิจฯไทย จัดอบรม “สหกิจศึกษานานาชาติ เครือข่ายสหกิจฯ ภาคใต้ รุ่นที่ 1”

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์(มวล.) โดยศูนย์สหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพ ร่วมกับ เครือข่ายพัฒนาสหกิจศึกษาภาคใต้ตอนบน และสมาคมสหกิจศึกษาไทย จัดโครงการอบรม “การจัดสหกิจศึกษานานาชาติ เครือข่ายพัฒนาสหกิจศึกษาภาคใต้  รุ่นที่ 1” ระหว่างวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ณ ห้องประชุม โรงแรมแกรด์ฟอร์จูน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเสริมสร้างศักยภาพอาจารย์ของเครือข่ายฯ ให้เกิดความพร้อมในการเตรียมการและสามารถจัดสหกิจศึกษานานาชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับมาตรฐานสหกิจ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมจาก 8 สถาบัน

 ในพิธีเปิดการอบรมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะนายกสมาคมสหกิจศึกษาไทย กล่าวปฐมนิเทศ  พร้อมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “จาก Coop สู่ CWIE” ห้วข้อ “ แนวคิดการจัดสหกิจศึกษานานาชาติ” และ “รูปแบบการจัดสหกิจศึกษานานาชาติ” โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นประธานกล่าวเปิดการอบรม

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า ในนามของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขอกราบขอบพระคุณศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสมาคมสหกิจศึกษาไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาทิตย์ คูณศรีสุข เลขาธิการสมาคมสหกิจศึกษาไทย วิทยากรจากสมาคมสหกิจศึกษาไทย คณาจารย์ และทุกท่านที่มาร่วมในการอบรม“การจัดสหกิจศึกษานานาชาติ เครือข่ายพัฒนาสหกิจศึกษาภาคใต้  รุ่นที่ 1” ในวันนี้ เนื่องจากการจัดสหกิจศึกษาไทย เป็นความคิดริเริ่มของท่านนายกสมาคมสหกิจศึกษาไทย และได้ดำเนินการมาจนถึงขณะนี้ การจัดการศึกษาโดยทั่วไป มักได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ประกอบการ คือ บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วทำงานไม่เป็น เก่งทฤษฎีแต่ปฏิบัติงานจริงไม่ได้ แต่เมื่อเข้าสู่โครงการสหกิจศึกษากลับได้รับคำชื่นชม นักศึกษาเรียนจบแล้วสามารถทำงานได้จริง เพราะสหกิจศึกษา คือ การทำงานควบคู่ไปกับการเรียนรู้   ซึ่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ขยายเวลาสหกิจศึกษาจากเดิม 4 เดือน เป็น 8 เดือน เพื่อให้นักศึกษามีโอกาสเรียนรู้และปฏิบัติงานได้จริงมากขึ้น สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ


          ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยได้ทำ MOU กับ 12 สถานประกอบการชั้นนำของไทย ซึ่งผู้ประกอบการต่างพึงพอใจกับการขยายระยะเวลาสหกิจศึกษา วิธีนี้จะทำให้บัณฑิตมีความเชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นมหาวิทยาลัยแรกๆ ที่ทำการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ นี่คือการขยายผลจากแนวคิดของท่านนายกสมาคมสหกิจศึกษาไทย ที่จะทำให้นักศึกษาเป็นบัณฑิตที่ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ประกอบการ และจะได้เลือกสถานประกอบการที่ได้มาตรฐานให้นักศึกษาไปฝึกงานในระยะเวลายาวนานขึ้นถึง 8 เดือน เพื่อให้นักศึกษาทำงานที่ดีจริง ซึ่งทางศูนย์สหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีเครือข่ายสถานประกอบการที่ได้มาตรฐานกว่า 500 แห่ง รองรับการสหกิจศึกษา ดังคำขวัญที่ว่า “บัณฑิต ม.วลัยลักษณ์ เก่งวิชาการ เชี่ยวชาญการปฏิบัติ”  หมายความว่าบัณฑิตต้องมีการปฏิบัติงานได้อย่างเชี่ยวชาญจริง


          ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวในช่วงท้ายว่า การจัดสหกิจศึกษานานาชาติ มีเรื่องที่มีความสำคัญกับนักศึกษาไทยประการแรก คือ เรื่องภาษา ไปสหกิจศึกษาต่างประเทศ ภาษาอังกฤษจะต้องแข็งแรง ประการที่สอง คือค่าใช้จ่าย นักศึกษาสหกิจศึกษาต่างประเทศต้องออกค่าใช้จ่ายเอง มหาวิทยาลัยได้เร่งดำเนินการแก้ไขทั้งสองเรื่อง คือ การปรับปรุง English communication เพื่อนักศึกษามีทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น โดยปรับโครงสร้างการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ 25% ในชั้นปีที่ 2 และ 50% ในชั้นปีที่ 3 และ 4 โดยคาดหวังว่า  นักศึกษาจะมีความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษที่ดีขึ้น ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย มหาวิทยาลัยกำลังประสานงานกับสถานประกอบการที่สามารถดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายให้นักศึกษาได้ และในอนาคตตั้งใจว่า  จะจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการสหกิจศึกษานานาชาติ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับนักศึกษา เพราะการสหกิจศึกษาในต่างประเทศถือเป็นโอกาส เป็นใบเบิกทางสู่การทำงานที่ดีในอนาคตของนักศึกษา

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสมาคมสหกิจศึกษาไทย กล่าวว่า สหกิจศึกษา หรือ (Cooperative Education) ได้รับการจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยซินซินนาติ ในปี คศ 1906 (พ.ศ 2449) โดยคณบดี Herman Schneider  ในส่วนของประเทศไทยได้จัดสหกิจศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐมาแล้ว 27 ปี นับจากการเริ่มจัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2536 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเป็นครั้งแรก ในช่วงที่ผ่านมาสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยประมาณ 120 แห่งหรือเกือบ 70% จัดสหกิจศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาระดับปริญญาตรี ใน พ.ศ 2556-2558 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)  ได้จัดทำแผนส่งเสริมการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพและการจัดการศึกษานานาชาติ เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมการพัฒนาแรงงานความรู้สู่ประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก ได้สนับสนุนให้สมาคมสหกิจศึกษาไทยจัดทำหลักสูตรผลิตและพัฒนาสื่อและการจัดการฝึกอบรมส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการศึกษาและการจัดสหกิจศึกษานานาชาติให้แก่บุคลากรของสถานศึกษา โดยลิขสิทธิ์เป็นของสมาคมสหกิจศึกษาไทย ลักษณะหลักสูตรฝึกอบรมที่มีสาระความรู้และประสบการณ์สำคัญ 2 ส่วน ได้แก่ 1) สาระความรู้พื้นฐานที่สำคัญเกี่ยวกับสหกิจศึกษา 2) สาระความรู้เฉพาะด้านสำหรับการดำเนินงานสหกิจศึกษานานาชาติ โดยหลักสูตรการอบรมใช้เวลาประมาณ 15 ชั่วโมงมีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิตทวิภาค วิธีการอบรมเป็นการอบรมเข้มระยะเวลา 2 วัน มีกิจกรรมการอบรมประกอบด้วย 1) การบรรยายโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ 2) กรณีศึกษาโดยผู้บริหาร ผู้นิเทศงาน นักศึกษาสหกิจศึกษานานาชาติ จาก Western Digital (Thailand) Co.,Ltd. และมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสมาคมสหกิจศึกษาไทยจะมอบสัมฤทธิบัตรแก่ผู้เข้ารับการอบรมที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ 1) เข้ารับการอบรมอย่างต่อเนื่องตลอดหลักสูตร 2) มีส่วนร่วมในการอบรมและทำกิจกรรมตามที่หลักสูตรกำหนด ผ่านความเห็นชอบของคณะวิทยากรการอบรม